เราพร้อม "เทเลพอร์ต" กันแล้วหรือยัง

เราพร้อม "เทเลพอร์ต" กันแล้วหรือยัง ?

เทคโนโลยี "เทเลพอร์ต" ยังเป็นเพียงเรื่องในภาพยนตร์หรือใกล้จะเป็นจริงแล้ว ?Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ
เทคโนโลยี "เทเลพอร์ต" ยังเป็นเพียงเรื่องในภาพยนตร์หรือใกล้จะเป็นจริงแล้ว ?
เมื่อเดือนที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จีนสร้างความฮือฮาหลังประสบความสำเร็จในการส่งข้อมูลด้วยอนุภาคควอนตัมผ่านดาวเทียมม่อจื๊อ (Micius) ซึ่งในการส่งข้อมูลดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการอ้างว่าได้ทำการ "เทเลพอร์ต" (Teleportation) หรือเคลื่อนย้ายข้อมูลสถานะของอนุภาคโฟตอนซึ่งเป็นอนุภาคของแสงจากพื้นโลกขึ้นไปยังดาวเทียมม่อจื๊อในอวกาศได้ในชั่วพริบตา ความสำเร็จนี้จะทำให้ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์จะสามารถเคลื่อนย้ายมวลสารต่าง ๆ รวมทั้งตนเองไปยังห้วงอวกาศอันไกลโพ้นได้ในชั่วอึดใจ เหมือนกับในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์หรือไม่ ?
ศาสตราจารย์ซานดู โปเปสคู จากมหาวิทยาลัยบริสทอลของสหราชอาณาจักรตอบคำถามนี้ว่า "หากพูดถึงการเคลื่อนย้ายมวลสารในชั่วพริบตาแบบในภาพยนตร์สตาร์เทร็ก มันจะไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายอนุภาคเพียงตัวเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการเคลื่อนย้ายอนุภาคกว่าหลายพันล้านล้านล้านอนุภาค จากคนผู้หนึ่งไปยังดวงดาวที่ห่างไกล ซึ่งนอกจากอนุภาคที่เป็นมวลสารของร่างกายแล้ว ยังต้องส่งข้อมูลที่ประกอบกันขึ้นเป็นความคิดจิตใจของคนผู้นั้นไปด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย"
ศาสตราจารย์โปเปสคูชี้ว่า แม้การ "เทเลพอร์ต" แบบที่เกิดขึ้นในนิยายวิทยาศาสตร์ จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ แต่เทคโนโลยีล่าสุดในการส่งข้อมูลควอนตัมของนักวิทยาศาสตร์จีน ก็สามารถทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เป็นเสมือนการเทเลพอร์ตขึ้นได้ในระดับอนุภาค โดยเป็นการถ่ายทอดข้อมูลสถานะของสิ่งต่าง ๆ ไปยังที่ห่างไกล มากกว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายมวลสารนั้นไปโดยตรง เปรียบเสมือนเครื่องส่งแฟ็กซ์ ซึ่งส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปพิมพ์ลงบนกระดาษที่ปลายทาง แต่ไม่ได้ส่งกระดาษที่มีข้อมูลต้นฉบับไปถึงยังจุดหมายจริง ๆ
ดาวเทียมม่อจื๊อขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศจากศูนย์ยิงปล่อยดาวเทียมทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนImage copyrightAFP/GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพ
ดาวเทียมม่อจื๊อขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศจากศูนย์ยิงปล่อยดาวเทียมทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการส่งข้อมูลด้วยอนุภาคควอนตัมผ่านดาวเทียม ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดยนายผาน เจียนเว่ย นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและศาสตราจารย์แอนทัน เซลิงเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนาของออสเตรีย สามารถทำการเทเลพอร์ตสถานะของอนุภาคโฟตอนได้ โดยใช้หลักการพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum entanglement) ซึ่งชี้ว่าคู่ของอนุภาคซึ่งมีความพัวพันกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามกันในทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอนุภาคใดอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันไปเท่าใดก็ตาม
มีการตีพิมพ์รายละเอียดของการเทเลพอร์ตอนุภาคโฟตอนนี้ในวารสาร Science โดยระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างคู่อนุภาคโฟตอนขึ้นมาพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความพัวพันกันระหว่างอนุภาคทั้งสอง จากนั้นได้ "เทเลพอร์ต" สถานะของอนุภาคตัวหนึ่งให้ขึ้นไปตามลำแสงซึ่งนำทางไปสู่ดาวเทียมม่อจื๊อในอวกาศได้ในชั่วพริบตา เกิดเป็นคู่อนุภาคโฟตอนใหม่ที่มีความพัวพันกันแต่แยกกันอยู่ไกลกว่าร้อยกิโลเมตร
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะมีความปลอดภัยกว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไปImage copyrightSCIENCE PHOTO LIBRARY
คำบรรยายภาพ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะมีความปลอดภัยกว่าระบบคอมพิวเตอร์ทั่วไป
คู่อนุภาคโฟตอนที่แยกกันอยู่นี้ จะเป็นสื่อรับส่งข้อมูลทางไกลที่มีประสิทธิภาพต่อไป โดยหากอนุภาคตัวใดตัวหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงจากการมีปฏิกิริยากับอนุภาคอื่น ๆ ข้อมูลนี้จะถูกส่งผ่านไปยังคู่อนุภาคของตนด้วย
นอกจากนี้ ความพัวพันเชิงควอนตัมของอนุภาคทั้งสอง จะไม่เปิดโอกาสให้มัลแวร์หรือนักเจาะล้วงข้อมูลเข้ามาแทรกแซงกระบวนการเข้ารหัสและถอดรหัสข้อมูลในระหว่างนั้นได้ เพราะความพยายามแทรกแซงทุกครั้งจะสะท้อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในคู่อนุภาคโฟตอนเสมอ
แม้ความสำเร็จในการเทเลพอร์ตสถานะของอนุภาคโฟตอนนี้ จะไม่สามารถนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีเทเลพอร์ตที่เคลื่อนย้ายมวลสารรวมทั้งมนุษย์ไปยังที่ต่าง ๆ ได้ แต่ก็มีความสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารหรือระบบอินเทอร์เน็ตควอนตัมที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือส่งข้อมูลความลับเช่นข้อมูลการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

RIP technology rules. Global Revolution TV.

ดาวเทียมจีนส่งข้อมูลด้วยควอนตัมได้ไกล 1,200 กม.